งานบริการวิชาการ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

งานบริการวิชาการ

หลักการและเหตุผลของงานบริการวิชาแก่สังคม

          การบริการวิชาการเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นจัดเป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา  มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ชุมชน การถ่ายทอดองค์ความรู้ และนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนา และแก้ไขปัญหาของท้องถิ่น การส่งเสริมสนับสนุนบุคลากรทำการวิจัยเชิงพื้นที่สนองความต้องการท้องถิ่นอย่างบูรณาการกับการเรียนการสอน การวิจัย และบริการชุมชน อีกทั้งเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ความตระหนัก และทัศนคติที่ดี แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  และสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา นักวิชาการ นักพัฒนา และสภาองค์กรชุมชนในการนำความรู้ ความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการจัดการความขัดแย้งของสังคม รวมไปถึงการให้บริการวิชาการ ด้านการจัดการการเรียนรู้แบบบูรณาการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีกระบวนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัย และมีการเผยแพร่ผลงานไปสู่สังคมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  เพื่อตอบสนองอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยในการเป็นที่พึ่งของท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

          การบริหารจัดการงานบริการวิชาการให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการด้านบริการวิชาการที่สอดรับกับสภาวการณ์ของเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีแผนยุทธศาสตร์บริการวิชาการที่เป็นกรอบในการดำเนินงานคือ แผนยุทธศาสตร์บริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พ.ศ. 2563 - 2567 ให้เป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย เป็นกรอบแนวทางที่สอดรับกับความต้องการของชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ สามารถเป็นกลไกเชิงการแข่งขัน เน้นการพึ่งตนเอง เพื่อให้หน่วยงานสามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการกำหนดกิจกรรม แผนงานโครงการ และจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านบริการวิชาการ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามประมวลผลการดำเนินงานให้เป็นไปตามตัวชี้วัดและเป้าหมายของมหาวิทยาลัยให้ประสบผลสำเร็จและบรรลุเป้าหมายต่อไป

วัตถุประสงค์ในการจัดทำแผนบริการวิชาการ

1.  เพื่อส่งเสริมภารกิจของมหาวิทยาลัยด้านการบริการวิชาการแก่สังคม ในการนำองค์ความรู้สู่บุคคล ชุมชน และสังคม
2.  เพื่อส่งเสริมการนำองค์ความรู้จากการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยสู่การให้บริการวิชาการแก่ชุมชนสังคม และนำประสบการณ์จากการให้บริการวิชาการกลับมาพัฒนา หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการวิจัยให้มีประสิทธิภาพ
3.  เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานด้านบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัย
4.  เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านบริการวิชาการแก่บุคคล ชุมชนและสังคม

ลักษณะของโครงการ/กิจกรรม การบริการวิชาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น

1.  โครงการ/กิจกรรมที่ของบประมาณบริการวิชาการ ต้องเป็นโครงการ/กิจกรรมที่มีลักษณะตามนิยามที่ สมศ. กพร. และสกอ. กำหนด และสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563
2.  กลุ่มเป้าหมายของการให้บริการวิชาการ ได้แก่ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ของมหาวิทยาลัย ได้แก่
2.1  นักศึกษาปัจจุบัน
2.2  บุคลากรภายในมหาวิทยาลัย
2.3  ศิษย์เก่า
2.4  ตลาดแรงงาน
2.5  สังคมและชุมชน
2.6  องค์กรภาครัฐและเอกชน

3.  มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมามีนโยบายด้านการบริการวิชาการแบบบูรณาการ ให้การบริการวิชาการมีความสอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอน และการวิจัยซึ่งในแผนบริการวิชาการเชิงบูรณาการประกอบด้วย โครงการบูรณาการ 2 ประเภท คือ
3.1  โครงการที่นำความรู้จากการบริการมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนและการวิจัย
3.2  โครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น

4.  สถานที่จัดโครงการ/กิจกรรม อาจจัดภายในมหาวิทยาลัยหรือภายนอกพื้นที่

5.  การจัดทำโครงการ/กิจกรรมบริการวิชาการแก่สังคม ต้องศึกษาความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก่อน เพื่อให้โครงการต่าง ๆ ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง

6.  การจัดทำโครงการ/กิจกรรมบริการวิชาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ประกอบด้วยโครงการบริการวิชาการเชิงพานิชย์หรือเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดรายได้ และโครงการบริการวิชาการเชิงสาธารณะประโยชน์ โดยโครงการทั้ง 2 ลักษณะโดยเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยหรือเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับองค์กรภายนอกทั้งท้องถิ่น ระดับชาติ และนานาชาติ

วันที่เผยแพร่ 06 พฤศจิกายน 2561
ผู้เผยแพร่ admin